🗓 เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเป็นสักขีพยานความร่วมมือระหว่าง สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และกิจการร่วมค้าไทยโอมิกส์ จัดตั้งศูนย์บริการทดสอบทางการแพทย์จีโนมิกส์ ณ อาคาร 10 ปี เภสัชศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อถอดรหัสพันธุกรรมทั่วจีโนมของอาสาสมัครคนไทยภายใต้แผนงานจีโนมิกส์ประเทศไทย จำนวน 50,000 ราย เพื่อใช้เป็นข้อมูลสําคัญในการวางรากฐานการรักษาผู้ป่วย 5 กลุ่มโรคแห่งอนาคต
🩺 การแพทย์จีโนมิกส์ เป็นนวัตกรรมการบริการทางการแพทย์ที่ใช้ข้อมูลพันธุกรรมเฉพาะบุคคลร่วมกับข้อมูลทางสุขภาพอื่นๆ มาใช้ในการวินิจฉัย ทำนายปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรค และรักษาได้ตรงจุด แม่นยำ เหมาะสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายมากขึ้น
📌 ความสําคัญของการพัฒนาการวิจัยด้านการแพทย์จีโนมิกส์ จะมีประโยชน์โดยเฉพาะทางการแพทย์ ที่จะศึกษาข้อมูลทางพันธุกรรม ค้นหาความผิดปกติบนจีโนมของประชากรไทยเพื่อเป็นฐานข้อมูลจีโนมอ้างอิง ตลอดจนเพื่อการศึกษาไปข้างหน้าแบบระยะยาว และเพื่อการวิเคราะห์ สังเคราะห์หาปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้องระหว่างยีนกับสุขภาพ หรือการเกิดโรคต่างๆ โดยการถอดรหัสพันธุกรรมภายใต้แผนงานจีโนมิกส์ประเทศไทย มุ่งเป้าใน 5 กลุ่มโรค ได้แก่ กลุ่มโรคมะเร็ง, โรคหายาก (rare diseases), โรคติดเชื้อ, โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) และกลุ่มเภสัชพันธุศาสตร์ ในการป้องกันการแพ้ยาและการเลือกใช้ยาที่เหมาะสม
✍🏻 สําหรับการลงนามสัญญาดังกล่าว ภายใต้แผนงานจีโนมิกส์ประเทศไทย เป็นความร่วมมือของหน่วยงานพันธมิตรรวม 22 หน่วยงานที่ร่วมขับเคลื่อน อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.), สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.), ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS), สํานักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.), กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, ทีมวิจัยคณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รวมไปถึงมหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
Comments