🌱 “แม้รูปลักษณ์ภายนอกจะดูปกติ แต่ภายในนั้นเป็นอย่างไรไม่อาจทราบได้” 🌱
🌱 ผลจากการรวบรวมพืชในวงศ์ถั่วของธนาคารเมล็ดพรรณ สังกัดธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (National Biobank of Thailand: NBT) พบว่า เมล็ดสะบ้าลิง (𝑀𝑢𝑐𝑢𝑛𝑎 𝑚𝑎𝑐𝑟𝑜𝑐𝑎𝑟𝑝𝑎 Wall.)(1)(2) ที่ภายนอกนั้นมีความสมบูรณ์เหมือนกับเมล็ดปกติทั่วไป แต่ภายในได้ถูกเจ้าด้วง 𝐶𝑎𝑟𝑦𝑜𝑝𝑒𝑚𝑜𝑛 𝑔𝑖𝑔𝑎𝑛𝑡𝑒𝑢𝑠 Pic (3) เข้าไปฝังตัวและกัดกินภายในเมล็ดจนเกลี้ยง โดยด้วงชนิดนี้จะวางไข่ไว้ในเมล็ด จากนั้นพัฒนาเป็นตัวหนอนแล้วกัดกินและอาศัยอยู่ภายในจนพัฒนาเป็นตัวเต็มวัย จึงจะเจาะออกมาจากเมล็ด จากการตรวจสอบพบว่าในหนึ่งเมล็ดสามารถพบด้วงชนิดนี้ได้มากกว่าหนึ่งตัว นับว่าเป็นผลกะทบต่อการขยายพันธุ์ของต้นสะบ้าลิงในธรรมชาติ ซึ่งอาจะต้องใช้เทคนิควิธีทางวิทยาศาสตร์เข้ามามาช่วยในการเก็บรักษาและอนุรักษ์พันธุกรรม
📌 สำหรับวิธีการทดสอบความสมบูรณ์ภายในเมล็ดที่ง่ายที่สุด คือการตัดทดสอบ (cut test) (4) เพื่อดูความสมบูรณ์ของเมล็ด ซึ่งโดยทั่วไปแล้วหากเอนโดสเปิร์มมีสีปกติ มีเอ็มบริโอที่พัฒนาได้สมบูรณ์ เมล็ดจะมีโอกาสงอกได้สูง วิธีนี้เป็นประโยชน์ในการประเมินขนาดและอายุ รวมถึงคุณภาพของเมล็ดก่อนการจัดเก็บ แต่วิธีการนี้ก็มีข้อเสีย คือ เมล็ดที่ถูกตัดทดสอบจะตายหรือเสียหายไม่สามารถนำไปใช้ในการเก็บรักษาได้อีก
📌 ปัจจุบันมีเทคโนโลยีการใช้เครื่อง X – ray ที่สามารถตรวจสอบคุณภาพเมล็ดภายในได้โดยที่ไม่ทำให้เมล็ดเกิดความเสียหาย ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้นพบว่าสะบ้าลิงเป็นพืชที่ถูกคุกคาม เพราะเป็นที่นิยมเก็บเมล็ดมาเป็นเครื่องรางและพื้นที่กระจายพันธุ์ในธรรมชาติถูกบุกรุก ธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ โดยธนาคารเมล็ดพรรณ จึงริเริ่มทำการจัดเก็บเมล็ดสะบ้าลิงเพื่อการอนุรักษ์พันธุกรรม โดยทดลองจัดเก็บแบบระยะยาวไว้ในสภาพเยือกแข็ง (-20 องศาเซลเซียส) เป็นการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์ซึ่งเกิดขึ้นนอกแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ (ex-situ Conservation) เป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันปัญหาการสูญพันธุ์ในอนาคต
📝 บทความ : ธีรวัฒน์ แก้วกาญจน์
📸 ภาพ : ธนาคารเมล็ดพรรณ (NBT)
ขอขอบคุณผู้แนะนำการสืบค้นและตรวจสอบชนิดของแมลง : รองศาสตราจารย์ โกศล เจริญสม และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิทักษ์พงศ์ ป้อมปราณี
📌 ข้อมูลอ้างอิง
Commenti